ประวัติและผลงานละครโทรทัศน์ ของ เจิ้ง อวี้หลิง

ชีวิตช่วงแรก (พ.ศ. 2500-2517)

พ่อและแม่ของเธอเดิมมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลนครฉงชิ่ง ที่อยู่ทางทิศตะวันตก ติดกับมณฑลเสฉวน ที่มีเมืองเอกชื่อเฉิงตู ในประเทศจีน ต่อมาพ่อและแม่ของเธอได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศฮ่องกง ซึ่งเป็นที่ ๆ เจิ้งอวี้หลิงเกิดและเติบโตขึ้นมา จนมีชื่อเสียงโด่งดังและกลายเป็นตำนาน

เจิ้งอวี้หลิง เกิดเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2500 ที่ฮ่องกง มีชื่อเล่นว่า ตูตู (Do Do) ซึ่งสมาชิกในครอบครัวประกอบไปด้วยพ่อแม่ และน้องชายอีกหนึ่งคน ซึ่งทุกคนนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกในวัยเยาว์ เธอเป็นเด็กที่รักอิสระมากไม่ชอบให้ใครบังคับและชอบการพึ่งพาตนเองเป็นที่สุด ยามว่างเธอชอบดูละครและหนังกับครอบครัวเป็นอย่างมาก ซึ่งในวัยเด็กเธอใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักข่าวสาว เพราะเธอได้รับแรงบันดาลใจจากนักข่าวหญิงแกร่งชื่อดังของฮ่องกงในยุคนั้น อย่าง จงหยู่หัว (宗毓华) ซึ่งเป็นไอดอลของเธอในวัยเยาว์ หลังจากจบชั้นประถม เธอได้เข้าเรียนต่อในระดับมัธยมปลายที่โรงเรียนนานาชาติ แห่งความหวัง (Good hope school) ซึ่งเป็นโรงเรียนคริสเตียนแห่งหนึ่งในฮ่องกง ซึ่งผลการเรียนของเธอดีมากโดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ แต่ทว่า...ในขณะที่เธอกำลังศึกษาอยู่นั้นครอบครัวของเธอก็กลับเจอมรสุมลูกใหญ่เพราะต้องเผชิญกับปัญหาการเงินอย่างหนัก จนพ่อและแม่ของเธอต้องแยกทางกันในเวลาต่อมา เหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้เธอจำฝังใจและเป็นสาเหตุทำให้ เจิ้งอวี้หลิง กลายเป็นคนระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายเงินเป็นอย่างมาก และนิสัยนี้ก็ติดตัวมาตั้งแต่นั้น

ชีวิตแรกเริ่มในวงการบันเทิง (พ.ศ. 2518-2521)

ในปีพ.ศ. 2518 (1975) หลังจากเรียนจบในระดับชั้นมัธยมปลายแล้ว เธอไม่ได้เรียนต่อเนื่องจากสถานการณ์ทางการเงินของครอบครัวไม่ดี ต่อมาเธอได้ตัดสินใจไปสมัครเข้าฝึกอบรมเป็นนักแสดงกับทางค่าย เจียซื่อ (CTV) ที่เปิดรับนักแสดงอยู่ในขณะนั้น โดยที่เธอได้เข้าฝึกอบรมกับครูเจมส์ ซึ่งเป็นผู้สอนหลักสูตรการเป็นศิลปินในชั้นที่เธอเรียน และเธอก็ได้รับผลเรียนการแสดงที่ดี โดยบุคลิกของเธอที่เรียบง่าย,ใจกว้างและเป็นคนตรงชัดเจนจึงทำให้เธอโดดเด่นในชั้นเรียนเป็นอย่างมาก หลังจากเรียนจบ เธอก็ได้เป็นนักแสดงทันทีและมีผลงานเรื่องแรกในชีวิตของเธอคือ ER ห้องฉุกเฉิน (Emergency room 1976) ซึ่งเป็นละครแนวสากล หลังจากนั้นเธอก็มีผลงานตามมาอย่างต่อเนื่อง เช่น คัมภีร์กระเรียนเซียนเหยียบฟ้า (仙鶴神針1977 หรือ The Magic Crane 1977), ลูกมังกรหยก (Return of the Condor Heroes 1977), ความรักในหอแดง (Dream of the Red Chamber 1977), หงส์ฟ้าประกาศิต (Mystical Crane, Magic Needle 1978), จอมเพชฌฆาตดาบทองคำ (The Gold Dagger Romance 1978) ซึ่งผลงานเหล่านี้กับทางค่ายเจียซือ ก็ไม่ได้ทำให้เธอมีชื่อเสียงอะไรเลย ถึงแม้ว่าบางเรื่องเธอจะมีบทบาทที่เด่นอยู่บ้างก็ตามแต่ก็ไม่ถึงกับโดดเด่นชัดเจนอะไรมากนัก ซึ่งในความเป็นจริงตัวของ เจิ้งอวี้หลิงเองก็มีบุคลิกที่โด่ดเด่นมาก แต่ทางค่ายเจียซือ ก็ไม่ได้ผลักดันส่งเสริมเธอเท่าที่ควร สาเหตุเพราะในยุคสมัยนั้นจัดว่าเธอไม่ใช่นักแสดงที่สวย อย่าง หมีเซียะ หรือ หวีอันอัน จึงทำให้เธอไม่เคยได้รับบทนางเอกหรือบทที่โด่ดเด่นมาก ๆ เพราะเธอไม่จัดอยู่ในกลุ่มนักแสดงสาวสวยเหล่านั้น ต่อมาบริษัทเจียซือ เกิดยุบตัวลงไปเนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนักเลยทำให้นักแสดงในสังกัดต่างต้องหาค่ายใหม่กันอลวน บางคนก็ไปเป็นนักแสดงขึ้นตรงกับทางค่ายอาร์ทีวี แต่บางคนก็ย้ายไปอยู่กับค่ายทีวีบี

ในปีพ.ศ. 2521 (1978) หลังจากการล่มสลายของบริษัทเจียซื่อ (Jiayi) เจิ้งอวี้หลิง ก็ได้ย้ายตัวเองไปเซ็นสัญญาเป็นนักแสดงให้กับทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี(TVB) (ซึ่งใครเลยจะรู้ว่าที่นี้จะเป็นที่ ๆ เห็นความสำคัญของเธอ ถึงขนาดปลุกปั้นส่งเสริมเธอจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเอเชียและกลายเป็นนักแสดงหญิงในระดับตำนานคนหนึ่ง) โดยเริ่มผลงานกับทางค่ายทีวีบี คือเรื่อง แฝดคนละฝา (Between the Twins 1978) ที่นำแสดงโดยดาราดังของทางค่ายอย่าง วังหมิงฉวน และ โอวหยังเพ่ยซัน ซึ่งในเรื่องนี้ วังหมิงฉวนต้องรับบทเป็นฝาแฝด ส่วนตัวเธอยังไม่ได้รับบทที่โด่ดเด่น

เข้าสู่ยุคทอง (พ.ศ. 2522-2525)

ในปีพ.ศ. 2522 ทางสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ได้เปิดโอกาสให้เธอเริ่มได้รับบทบาทที่โดดเด่นมากยิ่งขึ้น เช่นละครฟอร์มใหญ่แห่งปีเรื่อง เหนือลิขิต (Over the Rainbow 1979) ละครเรื่องนี้มีความยาวถึง 85 ตอน ซึ่งนำแสดงโดยดาราดังมากมาย เช่น เซี่ยเสียน, วังหมิงฉวน, เจิ้งเส้าชิว, เจิ้งอวี้หลิง และ อลันทัม ความนิยมของละครเรื่องนี้ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ต่อมาทางช่อง ได้ลองให้เธอรับบทนางเอกเต็มตัวในละครฟอร์มเล็ก 6 ตอนก่อนเพื่อดูว่าผลตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างไร ในเรื่อง เจ้าสาวข้ามแดน (A Girl With A Suitcase 1979) โดยเธอนำแสดงกับ หลินจื่อเสียง และ เฉินไป่เสียง และกระแสการตอบรับในฮ่องกงค่อนข้างดี ทำให้ในเรื่องต่อมาเธอได้มีโอกาสเล่นเป็นนางเอกต่อในละครสากลที่มีจำนวนตอนเพิ่มมากขึ้นอย่างเรื่อง วิวาห์รอรัก (下一代 1979) โดยได้แสดงนำร่วมกับ เยิ่นต๊ะหัว, เฉินอวี้เหลียน และดาราน้องใหม่ในขณะนั้น อย่าง หลีเหลี่ยงเหว่ย ซึ่งกระแสผลตอบรับจากผู้ชมออกมาดีกว่าเดิม และทางช่องทีวีบี ก็เหมือนเห็นอะไรที่พิเศษบางอย่างในตัวเธอจึงผลักดันส่งเสริมจนได้มีโอกาสประกบกับพระเอกมาแรงของทางช่อง อย่างโจวเหวินฟะ ในละครสุดฮิตเรื่อง เทพบุตรชาวดิน (The Good, The Bad, and The Ugly หรือ Man in the Net 1979) ที่มีความยาวถึง 80 ตอน หลังจากออกอากาศเรื่องนี้ไปได้ไม่นาน ผลตอบรับของละครเรื่องนี้ทำให้ทั้งโจวเหวินฟะและเธอโด่งดังเป็นพลุแตกทั่วทั้งเกาะฮ่องกงและเอเชีย ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ขวัญยอดนิยมแห่งของยุคนั้นทันที ในขณะเดียวกันนั้นตัวของ เจิ้งอวี้หลิง เองก็ถูกสื่อมวลชนทั้งหลายตั้งฉายาเรียกเธอว่า ลูกเป็ดขี้เหร่ ของวงการจอแก้วฮ่องกง หลังจากความสำเร็จของละครเรื่อง เทพบุตรชาวดิน ทำให้ทั้งเธอและโจวเหวินฟะ ต่างได้ร่วมเล่นละครตามมาอีกหลายเรื่อง แต่ก็มีบางเรื่องที่เธอได้เล่นกับพระเอกคนอื่นบ้าง สลับกันไป จากความโด่งดังของเธอ ทำให้เธอกลายเป็น 1 ใน 4ดรุณีหยก แห่งยุค 70s

ในพ.ศ. 2523 จากกระแสการตอบรับของคู่ขวัญอย่างโจวเหวินฟะกับเจิ้งอวี้หลิง ทำให้ทางช่องทีวีบีไม่รอช้า ป้อนงานละครที่ให้ทั้งคู่ได้ร่วมแสดงด้วยกันอีก เพื่อตอบสนองความต้องการของแฟน ๆ อย่างเช่นละครเรื่อง เลือดต่างสี (The Brothers 1980) ที่มีความยาวถึง 75 ตอน และละครเรื่อง ห้วงรักห้วงกรรม (勢不兩立 The Family 1980) ซึ่งทั้ง2 เรื่องนี้ เธอก็ได้ร่วมนำแสดงกับพระเอกคู่บุญ โจวเหวินฟะ และก็ได้รับความสำเร็จอีกครั้งโดยเฉพาะละครเรื่อง เลือดต่างสี ที่เรตติ้งดีเพราะมีเนื้อหาเข็มข้น นอกจากนี้เธอยังมีผลงานเรื่อง กงเกวียนหมุนวน หรือ วงเวียนชีวิต (Five Easy Pieces 1980) ที่มีความยาว 30 ตอน ที่ร่วมแสดงนำกับ เจิ้งเส้าชิว และ สือซิว

พ.ศ. 2524 เธอยังได้ร่วมแสดงกับพระเอกคู่บุญโจวเหวินฟะอีกเช่นเคย และยังมีผลงานที่ได้รับความนิยม อย่างต่อเนื่อง เช่น จอมทรนง (The Fate 1981) และเรื่อง เพชรตัดเพชร (Good old Times 1981) ในปีนี้เธอก็ยังมีผลงานดังที่ร่วมแสดงกับคนอื่นที่ไม่ใช่ โจวเหวินฟะ เช่นละครเรื่อง เหยี่ยวถลาลม (The Lonely Hunter 1981) ที่มีความยาว 25 ตอน ในละครเรื่องนี้เธอได้มีโอกาสร่วมนำแสดงกับ ดาราชายดาวรุ่งพุ่งแรงที่ทางช่องผลักดันเป็นอย่างมาก อย่าง หวงเย่อหัว และ เหมียวเฉียวเหว่ย อีกทั้งยังเป็นละครที่ทำให้ทั้ง หวงเย่อหัวและ เหมียวเฉียวเหว่ย แจ้งเกิดในวงการจอแก้วทันทีตามมากับละครสั้น 10 ตอนจบเรื่อง คฤหาสน์อาถรรพณ์ (No One is Innocent 1981) ที่เธอร่วมนำแสดงกับ หลี่ซือฉี แต่เรื่องหลังนี้ไม่ค่อยดัง

พ.ศ. 2525 เธอได้ร่วมแสดงในละครดัง 25 ตอนจบ อย่างเรื่อง โลกมายา (Star Palace 1982) ซึ่งเป็นละครที่บอกถึงเรื่องราวชีวิตของ 4 อดีตดาราดังจอเงิน ในช่วงยุค 50s-60s โดยในเรื่องนี้ เธอได้รับบท หลินชุ่ย (อดีตดาราภรรยาของหวังอยู่) นอกจากนี้ยังมีนักแสดงมากฝีมืออย่าง หลี่ซือฉี ที่มารับบทเป็นอดีตดาราสาวชื่อดังแห่งโลกภาพยนตร์ อย่าง หลินไต้, เจิงชิ่งอวี๋ รับบทเป็นอดีตดาราสาวงามอย่าง เล่อตี้ และ เยี่ยเต๋อเสียน รับบทเป็น หลี่เม่ย ความโด่งดังของละครเรื่องนี้ในฮ่องกง ทำให้อดีตสามีของ หลินไต้ ไม่พอใจถึงขึ้นทำการฟ้องร้องสถานีโทรทัศน์ทีวีบี,ผู้กำกับ และคนเขียนบท ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่โตในตอนนั้นกันเลยทีเดียว ในปีนี้เธอยังมีละครเรื่องอื่น ๆ เช่นละครสั้นเรื่อง 3 คนอลเวง (A Baby Makes Three 1982) ร่วมนำแสดงกับ เจิงเจียง และเรื่อง โชคชะตา (Destiny 1982) ร่วมนำแสดงกับ หลี่เหลียงเหว่ย และ เยิ่นต๊ะหัว

ความนิยมลดลง (พ.ศ. 2526-2527)

พ.ศ. 2526 ในปีนี้ชื่อเสียงของเธอเริ่มลดลง เพราะมีดาราสาวใหม่ ๆ เกิดขึ้นมามากมาย เช่น หลันเจี๋ยอิง เจิ้ง หัวเชียน หลิวเจียหลิง ชี เหม่ยเจิน เป็นต้น และถือได้ว่าเป็นปีทองของละครชุด มังกรหยก ที่ทำให้ดารารุ่นน้องอย่าง เฉิน อวี้เหลียน และดาราสาวน้องใหม่ อย่าง องเหม่ยหลิง โด่งดังเป็นพลุแตกขึ้นมา แซงหน้าความดังของดารารุ่นพี่ ๆ กันเลยทีเดียว เลยทำให้ทางช่องสถานีโทรทัศน์ทีวีบี หันไปผลักดันและป้อนงานละครให้กับดาราสาวรุ่นใหม่เหล่านี้แทน

ในปีนี้สถานีโทรทัศน์ทีวีบี ป้อนงานละครให้เธอเพียงแค่เรื่องเดียว คือเรื่อง พยัคฆ์สาวมือปราบ (Woman on The Beat 1983) ที่มีความยาว 20 ตอนจบ โดยเธอร่วมแสดงนำกับ สือซิว, และ โอวหยังเพ่ยซัน ซึ่งเป็นละครที่ไม่ค่อยดัง

พ.ศ. 2527 ถึงแม้ปีนี้เธอจะมีผลงานละคร 2 เรื่องก็ตาม แต่ทว่า...ผลงานทั้งละครเรื่อง สวนทางรัก (It Takes All Kinds 1984) และเรื่อง รักห้าเส้า (It's A Long Way Home 1984) กลับเป็นผลงานที่เน้นผลักดันดาราสาว หลันเจี๋ยอิง ขึ้นมามีชื่อเสียงมากกว่า เน้นที่ตัวเธอ

กลับมาดังอีกครั้ง (พ.ศ. 2528-2530)

ในปีพ.ศ. 2528 ผลงานละครเรื่อง จอมบงการ (The Pitfall 1985) ที่มีความยาว 20 ตอนจบ ร่วมนำแสดงกับ เยิ่นต๊ะหัว และ โอวหยังเพ่ยซัน และเรื่อง ผีสาวจอมเพี้ยน (Happy Spirit 1985) ร่วมนำแสดงกับดาราสาวดาวรุ่ง เติ้ง ชุ่ยเหวิน ต่างก็ประสบความสำเร็จพอสมควร แต่ผลงานละครเรื่อง หลี่ซื่อเหนียง (Legend Of A Ching Lady 1985) ที่มีความยาว 20 ตอนจบ ที่เธอได้ร่วมนำแสดงกับ หลี่เหลียงเหว่ย, เยิ่นต๊ะหัว, จวงจิ้งเอ๋อ และ ฮุ่ยเทียนชื่อ ทำให้เธอเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง ตามด้วยผลงานดังเรื่อง นางพญาหน้าด่าง (The Legend of Lady Chung 1985) ที่มีความยาว 20 ตอนจบ ร่วมนำแสดงกับ เฉินซิ่วจู ซึ่งเป็นผลงานที่ทำให้เธอกลับมามีชื่อเสียงโด่งดังเป็นอย่างมากอีกครั้ง จนเธอได้ร่วมแสดงในละครฟอร์มใหญ่ประจำปี เรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง (The Yang’s Saga 1985) ซึ่งเป็นละครที่สร้างขึ้นมาในโอกาสพิเศษครบรอบ 18 ปีของสถานีโทรทัศน์ทีวีบี ที่นำแสดงโดย ทีม 5 พยัคฆ์ทีวีบี และดาราดังมากมายในค่ายทีวีบี

พ.ศ. 2529 เป็นปีที่เธอได้รับความนิยมถึงจุดสูงสูดในอาชีพการแสดงของเธอ กับผลงานโทรทัศน์เรื่อง คู่ทรนง (The Feud of Two Brothers 1986) ที่มีความยาว 30 ตอนจบ ในเรื่องนี้เธอได้มีโอกาสร่วมแสดงนำกับดาราชายชื่อดังที่เพิ่งย้ายค่ายมาจากสถานีโทรทัศน์เอทีวี อย่าง ว่านจื่อเหลียง ซึ่งบทบาทของทั้งคู่เป็นที่ถูกใจผู้ชมละครในตอนนั้นเป็นอย่างมาก จากความสำเร็จของละครเรื่องนี้ ทำให้ทั้งคู่กลายเป็นคู่ขวัญยอดนิยมขึ้นมาทันที นอกจากนี้ยังมีนักแสดงอื่นที่ร่วมแสดงด้วย เช่น อู๋ฉี่หัว, หลิวเจียหลิง และ โจว ไห่เม่ย และในปีเดียวกันตามด้วยบทบาท ฮึงซู่ซู่ ที่เธอได้เล่นรับเชิญในละครกำลังภายในชื่อดัง เรื่อง ดาบมังกรหยก (Heaven Sword and Dragon Saber 1986) ซึ่งนำแสดงโดย เหลียงเฉาเหว่ย, หลีเหม่ยเสียน, เติ้งชุ่ยเหวิน, เส้าเหม่ยฉี ซึ่งบทบาทรับเชิญของเธอกับเยิ่นต๊ะหัว ในละครเรื่องนี้กลับได้รับคำชม มากกว่าเหล่านักแสดงนำ ของละครเรื่องนี้เสียอีกนอกจากนี้ยังมีผลงานละครเรื่อง สับคู่ชู้ชื่น (Changing Partners 1986) ที่เธอได้ร่วมแสดงนำกับ เจิงเจียง

พ.ศ. 2530 จากความสำเร็จอย่างสูงของละครเรื่อง คู่ทรนง ทำให้ทางช่องทีวีบี ได้ป้อนงานละครที่ทั้งเธอและว่านจือเหลียง ได้ร่วมแสดงด้วยกันอีก ในละครสากลฟอร์มใหญ่ 65 ตอนจบ เรื่อง ค่าของคน (The Price of Growing up 1987) โดยมีนักแสดงอย่าง อู๋เจิ้นอวี่, โจวซิงฉือ และ โจวไห่เม่ย มาร่วมแสดงอีกด้วย ผลตอบรับจากผู้ชมก็ดีมาก ไม่แพ้เรื่อง คู่ทรนง ทั้งตัวเธอและ ว่านจือเหลียง ต่างได้รับคำชมเป็นอย่างมาก ต่อมาหลังจากละครเรื่องนี้ เธอก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับชีวิตการแสดงละครทีวี และหันไปเอาดีทางด้านจอเงินแทน ผลงานละครเรื่องสุดท้าย ที่เธอทิ้งทวนก่อนหันไปเล่นภาพยนตร์ คือละครดราม่าชีวิตรัก เรื่อง เจ้าสาวไม่กลัวฝน (謫仙記 1987)

หลังจากที่เธอได้หันหลังให้กับจอแก้วแล้วไปเอาดีกับการเล่นภาพยนตร์ แต่ด้วยความที่เธอมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางช่องสถานีโทรทัศน์ทีวีบีมาโดยตลอด ทำให้ในช่วงที่เธอว่างจากการรับเล่นภาพยนตร์และบทบาทเป็นพิธีกร เธอได้กลับมารับเล่นละครอยู่บ้าง เช่น ในปีพ.ศ. 2532 เธอกลับมารับเล่นในตอนสั้น ๆ ของละครซิทคอมเรื่อง อ้อมอกแม่ (The Seasons) และในปีพ.ศ. 2539 กับการแสดงนำในละครเรื่อง ก๊อตฟาเธอร์แห่งเซี่ยงไฮ้ (Once Upon a Time in Shanghai 1996) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม ตัวเธอเองก็ไม่ได้เน้นงานแสดงละครเหมือนในอดีต

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจิ้ง อวี้หลิง http://hk.on.cc/hk/bkn/cnt/entertainment/20180906/... http://wordyhylau.blogspot.com/2009_11_01_archive.... http://chinesemov.com/actors/Carol%20Cheng.html http://www.dodocheng.com/dodofile1.htm http://www.dodocheng.com/index/dodoworks/warofgend... http://www.hkheadline.com/culture/culture_content.... http://www.imdb.com/name/nm0155546/ http://www.imdb.com/name/nm2688391/ http://bbs.michelleyim.com/archiver/?tid-2043.html http://bbs.michelleyim.com/archiver/?tid-2043.html...